สาธุชนผู้ใจบุญร่วมทำบุญใส่บาตรวันวิสาขบูชา วัดพันเสด็จใน















สาธุชนผู้ใจบุญร่วมทำบุญใส่บาตรวันวิสาขบูชา วัดพันเสด็จใน                                                                                                      เมื่อวันที่3 มิถุนายน 2566 เวลาประมาณ09.30น. ที่ศาลาการเปรียญวัดพันเสด็จใน ม.4 ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ประชาชนผู้ใจบุญกว่า200คน ร่วมทำบุญใส่บาตรเนื่องในวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาสำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ คือพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นตรงกัน ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ซึ่งในปี 2566 นี้ ตรงกับวันที่ 3 มิถุนายน 2566 โดยชาวพุทธถือว่าเป็นวันที่รวมการเกิดเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า วิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขปุรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะมีหลักฐานว่าวันวิสาขบูชาเริ่มต้นครั้งแรกสมัยสุโขทัยเป็นธานี ได้รับแบบแผนมาจากลังกาเมื่อประมาณ พ.ศ. 420 โดยพระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ผู้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา หลังจากนั้น ษัตริย์แห่งลังกาพระองค์อื่น ๆ ก็ได้ถือปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบต่อกันมา บวกกับประเทศไทยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด ทำให้พระสงฆ์จากเมืองลังกาเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาและนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาในประเทศไทย

ซึ่งในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือ นางนพมาศ กล่าวสรุปไว้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนครด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ เป็นต้น

ต่อจากช่วงสมัยสุโขทัยไปจนต้นรัตนโกสินทร์ก็ไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับพิธีวิสาขบูชาเลย เนื่องจากไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ จนกระทั่งมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2360) พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 โดยให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศลทั่วหน้ากัน อีกทั้งการรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ถือว่าเป็นแบบอย่างปฏิบัติในการประกอบพิธีวิสาขบูชาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับกิจกรรมวันวิสาขบูชา ชาวพุทธศาสนิกชนในไทยส่วนใหญ่ก็จะเริ่มตั้งแต่ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า เข้าวัดทำบุญบำเพ็ญกุศล ฟังธรรมเทศนา ตั้งใจรักษาศีล 5 ศีล 8 งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ทำบุญถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน หรือการปล่อยนกปล่อยปลา ฟังพระธรรมเทศนา รวมถึงเดินทางไปเวียนเทียนรอบพระอุโบสถตั้งแต่ช่วงเย็น


ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย Roofoo. ขับเคลื่อนโดย Blogger.