เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างลงพื้นที่ไปเยี่ยมและติดตามชีวิตเงาะป่าซาไกหรือชนเผ่ามานิ







เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างลงพื้นที่ไปเยี่ยมและติดตามชีวิตเงาะป่าซาไกหรือชนเผ่ามานิ กลุ่มเดียวของจ.สงขลา ที่ยังคงวิถีชีวิตของเงาะป่าแบบดั้งเดิมหาเผือกหามันและล่าสัตว์เป็นอาหารตั้งทับอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำตกบริพัตร ในอ.รัตภูมิ จ.สงขลา  และดึงเข้ามาเป็นแนวร่วมช่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐในการแจ้งข่าวผู้บุกรุกทำลายป่าล่าสัตว์และปลูกป่าเพื่อเป็นห่วงโซ่อาหารตามวงจรชีวิตของชาวเงาะป่าที่ต้องออกไปหาอาหารทุกวัน ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ป่าและคงความเป็นเอกลักษณ์ชนเผ่ามินิให้อยู่คู่กับป่าอย่างมีความสุข
       วันนี้(19มิ.ย.)เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง นำโดยนายพงศ์พยัคฆ์ ศรียา ผู้อำนวยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 6 และนายชาย สุวรรณชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างจังหวัดสงขลาและสตูล
เดินทางเข้าไปตรวจเยี่ยมเงาะป่าซาไก หรือชนผ่ามานิ ศรีบริพัตรซึ่งสร้างทับหรือที่อยู่อาศัยอยู่ในป่าใกล้กับน้ำตกบริพัตร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา มาหลายสิบปีและตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์ป่าเขาพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่พรุ ป่าเทือกเขาไฟไหม้ และป่าคลองกั่ว เขตรอยต่อ จ.สงขลากับ จ.สตูล 
เป็นเงาะป่าซาไกแห่งเดียวของ จ.สงขลา  และยังคงมีวิถีชีวิตแบบเงาะป่าดั้งเดิมด้วยการเก็บของป่า เผือกมัน และการล่าสัตว์เล็ก ด้วยบอเลาหรือกระบอกตุกใส่ลูกดอกอาบยาพิษที่สกัดจากตันไม้มาเป็นอาหาร  สร้าง "ทับ" เป็นที่อยู่อาศัยมีทั้งที่เป็นแบบดั้งเดิมที่นำใบไม้มาทำเป็นเพิงและนอนบนฟากไม้ไผ่และที่สร้างเป็นกระท่อม มีความเชื่อเรื่องผีดูแลป่า
         ปัจจุบันตั้งทับอยู่ร่วมกัน2 ครอบครัว จำนวน18 คน ทั้งซาไกสูงอายุ ซาไกวัยหนุ่มสาวและเด็กซาไก และใช้นามสกุล"ศรีบริพัตร" ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานจากสมเด็จย่า ซึ่งตั้งตามถิ่นที่อยู่อาศัยใกล้กับน้ำตกบริพัตร
โดยทางเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าโตนงาช้างต้องการที่จะคงความเป็นชนเผ่าเงาป่าซาไกหรือมานิ สกุลศรีบริพัตรกลุ่มนี้ให้มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมากที่สุดไม่ให้ถูกกลืนไปกับสังคมเมือง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำ สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ
โดยการดึงเงาะป่าซาไกศรีบริพัตรเข้ามามีส่วนร่วมในอนุรักษ์ผืนป่า ปลูกเสริมป่า และเป็นแนวร่วมผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการลาดตระเวน สอดส่องดูแลผู้กระทำผิดเกี่ยวกับป่าไม้การล่าสัตว์เพื่อธุรกิจ ในช่วงที่ออกไปหาอาหารทุกวัน เป็นการแบ่งเบาภาระให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้ารัฐถูกต้อง ชัดเจนแม่นยำยิ่งขึ้น  ในกรณีที่พบเห็นการบุกรุกทำลายป่า หรือการล่าสัตว์ป่า ที่สำคัญคือต้องการให้ชนผ่ามานิเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ในโครงการสวนปาพระนามาภิไธยภาคใต้หรือสวนป่าสิริกิต
      โดยทางเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง ได้มอบต้นจำปูหริ่ง ซึ่งเป็นผลไม้ป่าเดือนละ100 กล้า หรือปีละประมาณ1,000 กล้า ให้ชนเผ่ามานิ นำไปปลูกในป่าทุกครั้งที่ออกหาอาหารในป่า  และแจ้งข่าวสารให้เจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นการบุกรุกทำลายบ่า ล่าสัตว์ป่า หรือพบเห็นสัตว์ป่าสำคัญ  ซึ่งจะช่วยคืนระบบนิเวศน์ให้แก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทำให้ชนผ่ามานิ สามารถดำรงชีวิตอยู่คู่กับป่าอย่างมีความสุข
นายพงศ์พยัคฆ์ ศรียา ผู้อำนวยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 6 กล่าวว่า เงาะป่าซาไก ชนเผ่ามินิกลุ่มนี้รักธรรมชาติและช่วยดูแลผืนป่าอย่างดีเยี่ยม เป็นเหมือนกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้โดยที่กรมอุทยานหรือรัฐบาลไม่ต้องจ้าง และพูดได้ว่าเป็นเงาะป่าซาไกกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่ยังใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมและเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าร่วมกับภาครัฐ
ด้าน นายชาย สุวรรณชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างจังหวัดสงขลาและสตูล กล่าวถึงการดูแลเงาะป่าซาศรีบริพัตรว่า เงาะป่าศรีบริพัตรเป็นชนเผ่าที่สำคัญที่สุดที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง และยังเป็นหนึ่งในคำขวัญเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างที่ว่าโตนงาช้าง ใกล้ผาดำ ทับซาไกและผืนป่าในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าโตนงาช้างก็ยังเป็นป่าในโครงการสวนป่าสิริกิต ซึ่งเป็นบ้านเล็กในป่าใหญ่ ที่เจ้าหน้าที่จะต้องดูแลทั้งป่าและเงาะป่าซาไกไปพร้อมๆกัน
ซึ่งบทบาทของเงาะป่าซาไกเหล่านี้ก็เป็นเหมือนกับหน่วยพิทักษ์ป่าหน่วยหนึ่งที่คอยทำหน้าที่ปกป้องผืนป่าไม่ให้มีใครมาบุกรุกทำลายหรือล่าสัตว์ป่า และคอยรายงานความเคลื่อนไหวในป่าให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที
แต่ขณะนี้เริ่มมีคนบางกลุ่มพยายามที่จะนำเงาะป่าซาไกกลุ่มนี้ช่วยล่าสัตว์ป่าโดยให้อาวุธปืนมาใช้ซึ่งเจ้าหน้าที่จำเป็นที่ต้องเร่งเข้าไปสร้างเกราะป้องกันเงาะป่าและดึงให้มาอยู่กับภาครัฐไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร และการเข้าไปดูวิถีชีวิตของเงาะป่าศรีบริพัตรจะต้องติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างเท่านั้นเพื่อไม่ให้กระทบกับการใช้ชีวิตของเงาะป่า
         ด้านนายอนันต์  จันทร์คง  อายุ63ปี หรือพี่ม่อน ซึ่งแต่งงานอยู่กินกับสาวชาวเงาะป่าศรีบริพัตรมาเกือบ30 ปีและมีลูกด้วยกัน3คน บอกว่า เงาะป่ากลุ่มนี้มาอาศัยอยู่ที่นี่หลายสิบปีแล้วและยังคงใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมคนสูงอายุก็จะออกไปขุดเผือกขุกมันมากิน ส่วนคนหนุ่มสาวก็จะออกไปล่าสัตว์ป่า และทุกคนรักที่จะใช้ชีวิตอยู่ในป่า ทุกคนพร้อมที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ป่าบริเวณนี้ไม่ให้ถูกทำลาย
ด้านนายยอด บริพัตร ซาไกวัยหนุ่มบอกแบบสั้นๆว่าจะร่วมปกป้องป่าและวิถีแห่งซาไกให้เหมือนเดิมมากที่สุดเพราะป่าคือชีวิตและลมหายใจของชาวซาไกศรีบริพัตร
 สำหรับหน่วยพิทักษ์ป่าเขาพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ปาโตนงาช้าง รับผิดชอบพื้นที่ปาประมาณ37,508 ไร่ซึ่งเป็นตันกำเนิดของ "น้ำตกบริพัตร" มีชั้นน้ำตกที่สวยทั้งหมด 7 ชั้น หล่อเลี้ยงชีวิตประชากรในพื้นที่ ต.เขาพระอ.รัตภูมิ จ.สงขลา ไหลลงสู่คลองลำแชง ไปยังทะเลสาบสงขลา
ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงช้าง จึงมีนโยบายในการรักษาความสมบูรณ์ของผืนป่าแบบบูรณาการหยุดการทำลายป่า ปลูกเสริมป้า หยุดการล่าสัตว์ป่า การใช้ทรัพยากรจากป่าอย่างรู้คุณค่า ลดปัญหาความขัดแย้ง เพิ่มขนาดพื้นที่ป่า ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ โดยผ่านทางชนเผ่ามานิหรือซาไก ซึ่งชนเผ่าเหล่านี้ต้องอาศัยป่าเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม ที่มีความสำคัญต่อชีวิตในรูปแบบของเครือข่าย ผ่านกระบวนการพึ่งพาอย่างยั่งยืน คืนระบบนิเวศน์ให้แก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ชนผ่ามานิซาไก สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขในป่าที่เป็นบ้านของพวกเขาเอง

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย Roofoo. ขับเคลื่อนโดย Blogger.